โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร AFRICAN SWINE FEVER
 New ประชาพิจารณ์ ประชาพิจารณ์การรับฟังความคิดเห็นประกอบการเสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดอาหารสุกที่ทำ ประกอบ หรือปรุงจากซากสัตว์เป็นซากสัตว์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. .... ดาวน์โหลดฟอร์มประชาพิจารณ์

banner swine fever
african swine fever


          โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคไวรัสติดต่อร้ายแรงที่เกิดกับสัตว์ในตระกูลสุกรทุกชนิด เกิดได้ทุกช่วงอายุ การเกิดโรคมักมีการระบาดรุนแรงทาให้สัตว์ที่ติดเชื้อตายเกือบหมดแต่เชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูง สุกรที่หายป่วยแล้วยังมีเชื้อไวรัสได้นานจึงสามารถเป็นพาหะของโรคได้ตลอดชีวิต ทำให้เมื่อมีเกิดโรคขึ้นในประเทศแล้วยากที่จะกำจัดโรคได้หมด ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนเพื่อใช้ป้องกันและควบคุมโรคนี้ทำให้การเกิดโรคระบาดส่งผลกระทบรุนแรงโดยตรงต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมากแม้ว่าเชื้อนี้จะไม่ติดคนก็ตาม โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจึงเป็นความเสี่ยงใหม่อีกชนิดหนึ่งสาหรับอุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตสุกรของประเทศไทย เนื่องจากพบรายงานการระบาดของโรคในสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีความเสี่ยงสูงของโรคนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกใต้ เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายสัตว์-ซากสัตว์ภายในภูมิภาค รวมถึงมีโอกาสที่เชื้อจะปนเปื้อนกับคนและอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ไม่ผ่านการปรุงสุกเพื่อการบริโภค โดยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเป็นโรคระบาดสัตว์ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม กรมปศุสัตว์จำเป็นต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อป้องกันมิให้โรคนี้เข้ามาภายในประเทศ ซึ่งมีอุตสาหกรรมการผลิตและเลี้ยงสุกรที่ก้าวหน้าในลำดับต้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ไวรัสวิทยา

African Swine         โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเกิดจากเชื้อไวรัส icoxahedral ขนาดใหญ่ชนิด enveloped DNA genus Asfivirus ของ family Asfarviridae ซึ่งมีที่มาจาก African Swine Fever And Related Virus (CIDRAP, 2009) เชื้อมี 1 serotype แต่พบลักษณะถึง 16 genotypes และอีกหลากหลายสเตรนที่ก่อโรคซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกัน (FAO, 2007) และเชื้อ ASFV ยังเป็น DNA arbovirus เพียงชนิดเดียวที่ได้พบในปัจจุบัน

 

 

 รูปที่ 1 เชื้อไวรัสโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร >> 

ที่มา : https://www.pirbright.ac.uk/asf

 

 

สัตว์ที่ติดเชื้อและแหล่งรังโรคในธรรมชาติ (Natural Hosts and Reservoirs)

          สัตว์ตระกูลสุกรอยู่ใน family Suidae ทั้งสุกรเลี้ยงและสุกรป่า โดยสุกรป่าในทวีปแอฟริกา ได้แก่ Warthog (Phacochoerus spp.) Bush pigs (Potamochoerus larvatus) Red River Hogs (Potamochoerus porcus) จะไม่แสดงอาการเมื่อติดเชื้อ (FAO, 2009) และ Giant forest hogs (Hylochoerus meinertzhageni) เป็นสุกรป่าที่ติดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้ในธรรมชาติ โดยมี African Warthogs และ Bush pigs เป็นแหล่งรังโรคในธรรมชาติ

 African Swine2



รูปที่ 2
สุกรป่าเป็นแหล่งรังโรคธรรมชาติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

 

 

 

 

 ความทนทานของเชื้อ (Viability) 

     เชื้อ ASFV มีความคงทนสูง จึงอยู่ได้ในสิ่งขับถ่าย ในซากสัตว์ ในเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากเนื้อสุกร เช่น ไส้กรอก แฮม ซาลามี่ ไวรัสสามารถทนอุณหภูมิต่ำได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์ดิบหรือผ่านความร้อนที่ไม่สูงนักอยู่ได้นาน 3-6 เดือน แต่ความร้อนจะฆ่าเชื้อนี้ได้ที่ 56°C นาน 70 นาที หรือที่ 60°C นาน 20 นาที (OIE, 2010) 

     เชื้อไวรัสสามารถคงอยู่ในเลือดเน่าเสีย (putrefied blood) ได้นาน 15 สัปดาห์ ในรอยเลือดที่เปื้อนแผ่นไม้ได้ 70 วัน ในอุจจาระเก็บที่อุณหภูมิห้องได้ 11 วัน ในเลือดสุกรที่อุณหภูมิ 4°C ได้ 18 เดือน ในเนื้อติดกระดูกที่อุณหภูมิ 39°C ได้ 150 วัน ในหมูแฮม (salted dried ham) ได้ 140 วัน และอยู่ที่อุณหภูมิ 50°C ได้ 3 ชั่วโมง ใน serum-free medium 

     เชื้อไวรัสสามารถถูกทำลายได้ที่ pH 3.9 และต่ำกว่า หรือที่ pH 11.5 และสูงกว่า แต่ถ้ามีซีรั่ม 25 % เชื้อมีชีวิตที่ pH 13.4 ได้นานถึง 7 วัน (CIDRAP, 2009) และหากไม่ใส่ซีรั่มเชื้อไวรัสจะอยู่ได้เพียง 21 ชั่วโมงเท่านั้น (OIE, 2018) 

     สารเคมีที่ใช้ทำลายเชื้อ ASFV ได้แก่ ether, chloroform และสารประกอบไอโอดีน หรือใช้ โซดาไฟ (Sodium hydroxide) ในอัตราส่วน 8/1000 หรือฟอร์มาลินในอัตราส่วน 3/1,000 หรือผงฟอกขาว (hypochlorite) ที่ให้คลอรีน 2.3% หรือสารฟีนอล (ortho-phenylphenol) 3% แต่ต้องใช้เวลา 30 นาที (OIE, 2018)