ประวัติความเป็นมากองสารวัตรและกักกัน

ประวัติความเป็นมากองสารวัตรและกักกัน

15 กุมภาพันธ์ 2494  : มีประกาศพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบราชการ กรมปศุสัตว์และสัตว์พาหนะ โดยมีส่วนราชการ 5 กอง ในส่วนกลางคือ สำนักงานเลขานุการกรม มี 3 แผนก กองสัตวรักษ์มี 3 แผนก กองควบคุมโรคระบาดมี 2 แผนก กองทดลองและค้นคว้ามี 3 แผนก และกองวัคซีนและซีรั่ม มี 3 แผนก เพิ่มราชการส่วนภูมิภาคขึ้น 2 หน่วยงาน คือสัตวแพทย์จังหวัดและสัตวแพทย์อำเภอ 

ด่านกักกันสัตว์ ได้เริ่มมีการตั้งมาก่อนแล้วประมาณปี 2467  ในสมัยที่มิสเตอร์อาร์.พี.โจน เข้ามาเป็นที่ปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อดำเนินงานด้านการควบคุมกักกรองโรคสัตว์ภายในประเทศและตรวจควบคุมการส่งสัตว์ในต่างประเทศ ถึงสิ้นยุคนี้ปรากฏคือ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ด่านกักสัตว์โคกคลี อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ด่านกักสัตว์บางมูลนาค อำเภอบางมูลนาคจังหวัดพิจิตร ด่านกักสัตว์ตำบลปะคำ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ด่านกักสัตว์มวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ด่านกักสัตว์เพชรบูรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ด่านท่าออกหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ด่านท่าออกปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และด่านท่าออกบางคอแหลม อำเภอยานนาวา จังหวัดพระนคร

20 สิงหาคม 2495 : ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการกรมปศุสัตว์ ในสังกัดกระทรวงเกษตร แบ่งส่วนราชการเป็นราชการบริหารส่วนกลาง 7 กอง กองควบคุมโรคระบาดมี 2 แผนก

11 มกราคม 2497 : ประกาศพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการกรมปศุสัตว์ ในสังกัดกระทรวงเกษตร ตามมาตรา 3 ให้แบ่งส่วนราชการเป็นราชการบริหารส่วนกลาง 7 กอง กองควบคุมโรคระบาดมี 2 แผนก

21 พฤษภาคม 2500 : มีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตร แบ่งส่วนราชการบริหารส่วนกลางออกเป็น 8 กอง กองควบคุมโรคระบาดมี 2 แผนก

           มีการตั้งหน่วยปราบโรค จำนวน 5 หน่วยๆ ละประมาณ 30 คน ขึ้นตรงกับกองควบคุมโรคระบาด โดยระดมทุกหน่วยเพื่อมาช่วยกันปราบโรคปากและเท้าเปื่อย ในพื้นที่เขต 7 คือจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดลงสู่ภาคใต้ (ได้ประกาศเป็นเขตปลอดโรคระบาดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2499) ต่อมาได้มีการตั้งหน่วยปราบโรคเพิ่มเติมอีก 4 หน่วย รวมเป็น 9 หน่วย ซึ่งได้ปฏิบัติงานปราบโรคในเขตกันชน (buffer zone) รอยต่อกับภาคใต้ เพื่อป้องกันและกำจัดโรคปากและเท้าเปื่อยไม่ให้ลงสู่เขตปลอดโรค รวมทั้งได้มีการจัดตั้งด่านตรวจสัตว์เป็นระยะๆ ตามจังหวัดรายทาง เพื่อลงสู่ภาคใต้ เช่น ด่านชะอำ จังหวัดเพชบุรี ด่านหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขัน์ และด่านท่าแซะ จังหวัดชุมพร เป็นต้น ทั้งนี้หน่วยปราบโรคนี้ได้ดำเนินงานต่อเนื่องไปถึงทศวรรษที่ 4

วันที่ 22 เมษายน 2522 : ประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กระทรวงเกษตรเดิม) ราชการบริหารส่วนกลาง รวมเป็น 13 กอง กองควบคุมโรคระบาด เป็น 1 ใน 13 กอง

วันที่ 21 มกราคม 2527 : ได้มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2527 ส่วนกลางมี 14 กอง กองควบคุมโรคระบาดเป็น 1 ใน 14 กอง

วันที่ 11 มิถุนายน 2537 : ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ งานบริหารราชการส่วนกลางรวมเป็น 16 หน่วยงาน กองควบคุมโรคระบาด เป็น 1 ใน 16 หน่วยงานและมีการยกระดับงานสัตวแพทย์สาธารณสุขขึ้นเป็นกองใหม่ กองสัตวแพทย์สาธารณสุข

วันที่ 9 ตุลาคม 2545 : ได้มีประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและและสหกรณ์ แบ่งส่วนราชการออกเป็นราชการบริหารส่วนกลาง จำนวน 24 หน่วยงาน มีทั้งเพิ่มหน่วยงานใหม่และยกระดับหน่วยงานจากกองเป็นสำนัก เช่น ยกระดับกองควบคุมโรคระบาดและกองสัตวรักษ์เดิมขึ้นเป็นสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์(สคบ.)

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 : กรมปศุสัตว์มีคำสั่งให้ส่วนสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ สคบ. ยกระดับเป็นกองปศุสัตว์ต่างประเทศ (กปต.)

วันที่ 22 ธันวาคม 2554 : มีประกาศกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้แบ่งส่วนราชการเป็นราชการบริหารส่วนกลางจำนวน 25 หน่วยงาน สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์เป็น 1 ใน 25 หน่วยงาน

วันที่ 11 ธันวาคม 2555 : มีการแบ่งส่วนราชการภายใน สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ โดยแยกส่วนควบคุมเคลื่อนย้ายและกักกัน ยกระดับเป็นกองสารวัตรและกักกัน (กสก.)