เกณฑ์ตรวจรับรองสำหรับสถานกักกันสัตว์เพื่อการนำเข้าในราชอาณาจักร
เพื่อการนำออกนอกราชอาณาจักร หรือเพื่อการเคลื่อนย้ายเข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด
ในการตรวจรับรองสถานกักกันสัตว์ ให้คณะกรรมการแบ่งการพิจารณาสถานกักกันสัตว์ออกเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 คณะกรรมการจะต้องพิจารณาว่าสถานกักกันสัตว์มีองค์ประกอบที่ผ่านเกณฑ์พื้นฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด จำนวน 4 ข้อ ได้แก่
1. กรณีสถานกักกันสัตว์เพื่อการนำเข้าในราชอาณาจักร ต้องไม่มีการเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนแล้ว แต่หากมีการเลี้ยงสัตว์อยู่ก่อนต้องจัดให้มีคอกกักหรือโรงเรือนสำหรับกักสัตว์ที่จะนำเข้ากักอย่างเหมาะสม โดยมีระยะห่างที่เหมาะสม มีระบบจัดการที่เหมาะสม (กรณีเป็นสถานกักกันสัตว์ปีกต้องมีการทำความสะอาดโรงเรือนและปล่อยโรงเรือนว่างไว้อย่างน้อย 60 วัน ก่อนนำสัตว์เข้ากัก)
- กรณีสถานกักสัตว์เพื่อการนำเข้าในราชอาณาจักรจากประเทศเพื่อนบ้าน สถานกักสัตว์ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอชายแดนที่มีช่องทางการนำสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าในราชอาณาจักร
- กรณีสถานกักสัตว์เพื่อนำออกราชอาณาจักรหรือเพื่อการเคลื่อนย้ายเข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด สถานกักสัตว์นั้น นั้น ต้องตั้งอยู่ห่างจากตลาดนัดค้าสัตว์และโรงฆ่าสัตว์กีบคู่ไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร (กรณีเป็นสถานกักสัตว์ปีกนำเข้าในราชอาณาจักรต้องตั้งอยู่ห่างจากโรงฆ่าสัตว์ปีก 5 กิโลเมตร)
2. มีรั้วล้อมรอบบริเวณพื้นที่สถานกักสัตว์ โดยรั้วดังกล่าวมีลักษณะมั่นคงแข็งแรงสามารถใช้ป้องกันสัตว์ เช่น สุนัข ไม่ให้ผ่านเข้ามาในบริเวณพื้นที่สถานกักสัตว์ได้
3. มีระบบป้องกันกำจัดเชื้อโรคที่ยานพาหนะ บุคคล อุปกรณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้าหรือออกพื้นที่สถานกักสัตว์ เช่น
- ไม่อนุญาตให้ยานพาหนะ บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาในพื้นที่สถานกักสัตว์
- มีการจดบันทึกยานพาหนะและบุคคลที่ผ่านเข้า-ออกพื้นที่สถานกักสัตว์
- มีโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค บ่อน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะที่ผ่านเข้า-ออกพื้นที่สถานกักสัตว์
- มีห้องเปลี่ยนชุดสำหรับผู้เข้าปฏิบัติงานในโรงเรือนกักกันสัตว์
4. มีการบำบัด กำจัดของเสียที่เกิดจากกิจกรรมการกักสัตว์ เช่น ซากสัตว์ มูลสัตว์ ขยะมูลฝอย และน้ำเสีย ไว้ภายในพื้นที่สถานกักสัตว์ โดยไม่มีการขนย้ายของเสียดังกล่าวออกจากสถานกักสัตว์ไปยังสถานที่อื่นๆ
ขั้นตอนที่ 2 คณะกรรมการตรวจรับรองสถานกักสัตว์พิจารณาว่าสถานกักสัตว์มีองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดซึ่งมีสภาพพร้อมใช้งานได้ดีหรือไม่อย่างไดร แล้วให้คะแนนตามดุลยพินิจและความเป็นจริง ได้แก่
1. สถานกักสัตว์ตั้งอยู่ห่างแหล่งชุมชน โรงฆ่าสัตว์ และแหล่งเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวกันกับสัตว์ที่จะนำเข้ากักเป็นระยะทางอย่างน้อย 3 กิโลเมตร
2. สถานกักสัตว์มีรั้วชั้นที่สองสำหรับแบ่งเขตพื้นที่อาคารสำนักงานหรือบ้านพักคนงานออกจากเขตพื้นที่ตั้งโรงเรือนหรือคอกที่จะใช้ในการกักสัตว์
3. บริเวณประตูทางเข้า-ออกของสถานกักสัตว์มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะ และบุคคล
4. มีอุปกรณ์และวิธีการบังคับสัตว์ที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับใช้ตรวจอาการ หรือปฏิบัติการใดๆ กับตัวสัตว์
5. มีห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายและมีชุดเครื่องแต่งกายเฉพาะสำหรับให้ผู้ที่ต้องเข้าปฏิบัติงานในคอกหรือโรงเรือนกักสัตว์ เช่นเปลี่ยนเสื้อคลุมแขนยาว ผ้าปิดจมูกและปาก ที่คลุมผม ถุงมือ และรองเท้าบู๊ท
6. มีโรงเรือนหรือสถานที่สำหรับเก็บอาหารสัตว์ที่สามารถป้องกันสัตว์จำพวก นก หนู ไม่ให้เข้าไปกัดแทะอาหารสัตว์ และสามารถป้องกันอาหารสัตว์จากละอองฝนได้
7. หน้าทางเข้าคอกกัก มีอ่างใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับจุ่มรองเท้าและอ่างล้างมือพร้อมสบู่สำหรับผู้ที่เข้าปฏิบัติงานในคอกหรือโรงเรือนกักสัตว์
8. มีสถานที่และวิธีการกำจัดของเสียที่เกิดจากกิจกรรมการกักสัตว์ เช่น ซากสัตว์ มูลสัตว์ สิ่งปูรองคอก ขยะมูลฝอย และน้ำเสียอย่างเหมาะสมไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจากของเชื้อทำให้ก่อเกิดโรคระบาด ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
9. มีแหล่งนำสะอาดสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ มีการตรวจสอบคุณภาพของน้ำเป็นระยะ
10.โรงเรือนหรือคอกที่จะใช้กักกันสัตว์ ให้คณะกรรมการพิจาณาว่ามีความเหมาะสมสำหรับใช้กักกันสัตว์แต่ละชนิดหรือไม่ อย่างไร โดยต้องมีลักษณะมั่นคงแข็งแรง ป้องกันสัตว์หลบหนีออกไปภายนอก สะดวกต่อการทำความสะอาดและการปฏิบัติงานประจำวันของผู้ดูแลสัตว์ มีอุปกรณ์ให้อาหารและน้ำแก่สัตว์อย่างเพียงพอ โดยรั้วของคอกกักสัตว์หรือผนังของโรงเรือนกักสัตว์ควรอยู่ห่างจากแนวรั้วชั้นนอกไม่น้อยกว่า 20 เมตร ในกรณีที่สถานกักสัตว์มีคอกกักหรือโรงเรือนสำหรับกักสัตว์จำนวนหลวยหลัง ให้คอกกักหรือโรงเรือนกักสัตว์แต่ละหลังตั้งอยู่ห่างจากกันไม่น้อยกว่า 10 เมตร ทั้งนี้ สภาพของคอกหรือโรงเรือนกักสัตว์ต้องมีสภาพที่สัตว์สามารถอาศัยอยู่ได้อยางปลอดภัย ไม่มีลักษณะแออัดหรือเป็นลักษณะการทรมานสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์กำหนดขนาดพื้นที่ของคอกหรือโรงเรือนสำหรับกักสัตว์ออดังนี้
ชนิดสัตว์ที่นำเข้ากัก | พื้นที่ของคอกหรือโรงเรืนกักสัตว์ | |
โค | ลูกโค | ควรเป็นคอกยกพื้นขังเดี่ยว ขนาด 14 ตารางเมตร/ตัว |
โครุ่น | ขนาด 5 ตารางเมตร/ตัว | |
โคเนื้อ | ขนาด 7 ตารางเมตร/ตัว | |
กระบือ | กระบือโตเต็มวัย | ขนาด 7 ตารางเมตร/ตัว |
แพะ | แพะโตเต็มวัย | ควรเป็นคอกยกพื้นสูง ขนาด 1 ตารางเมตร/ตัว |
แกะ | แกะโตเต็มวัย | ควรเป็นคอกยกพื้นสูง ขนาด 2 ตารางเมตร/ตัว |
สุกร | พ่อพันธุ์ | คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตร/ตัว |
แม่พันธ์ | คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตร/ตัว | |
สุกรอนุบาล | ขนาด 0.4 ตารางเมตร/ตัว | |
สุกรรุ่น | ขนาด 0.7 ตารางเมตร/ตัว | |
สุกรขุน | ขนาด 1.5 ตารางเมตร/ตัว | |
ม้า ลา ล่อ | ทุกช่วงอายุ | คอกเดี่ยวขนาดไม่น้อยกว่า 11 ตารางเมตร/ตัว |
ไก่ | อายุไม่เกิน 8 สัปดาห์ | ควรเป็นโรงเรือนพื้นซีเมนต์ ขนาด 30 ตัว/ตารางเมตร |
อายุ 8-20 สัปดาห์ | ควรเป็นโรงเรือนพื้นซีเมนต์ ขนาด 10 ตัว/ตารางเมตร | |
ไก่ไข่โตเต็มวัย | ควรเป็นโรงเรือนพื้นซีเมนต์ ขนาด 7 ตัว/ตารางเมตร | |
ไก่เนื้อโตเต็มวัย | ควรเป็นโรงเรือนพื้นซีเมนต์ ขนาด 10 ตัว/ตารางเมตร | |
ห่าน | อายุไม่เกิย 2 สัปดาห์ | ขนาด 1 ตัว/ตารางฟุต |
อายุ 2 สัปดาห์ | ขนาด 1 ตัว/1.5 ตารางฟุต | |
ห่านโตเต็มวัย | ควรเป็นแปลงหญ้า มีขนาดตามความเหมาะสม | |
นก | พิจารณาตามความเหมาะสมของนกแต่ละชนิด และช่วงอายุ | |
สัตว์ป่า | พิจารณาตามความเหมาะสมของสัตว์ป่าแต่ละชนิด และช่วงอายุ | |
ไข่สัตว์ปีกสำหรับทำพันธุ์ | พิจารณาตามความเหมาะสม |
11. เอกสารบันทึกอาการของสัตว์และการดำเนินการใดๆ ต่อสัตว์ในระหว่างที่ถูกกัก ควรเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐานให้สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ตรวจสอบได้
12. มีสัตวแพทย์ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้เวชภัณฑ์และการให้อาหารในระหว่างการกักสัตว์
13. มีบุคคลทำหน้าที่ดูแลสัตว์ในระหว่างการกัก โดยบุคคลดังกล่าวควรมีที่พักอาศัยอยู่ในส่วนที่จัดไว้สำหรับเป็นที่พักอาศัยของคน ไม่ควรอาศัยอยู่ในส่วนที่จัดไว้สำหรับเป็นที่ตั้งของคอกกักหรือโรงเรือนกักสัตว์
หมายเหตุ : ในหลักเกณฑ์นี้ "คอกหรือโรงเรือนกักสัตว์" ให้หมายถึงอาคารหรือห้องที่ใช้ในการเก็บรักษาไข่สัตว์ปีกสำหรับทำพันธุ์ด้วย
สถานกักสัตว์ที่ผ่านการตรวจรับรองจะต้องมีองค์ประกอบที่ผ่านเกณฑ์พื้นฐานครบถ้วนตามที่กรมปศุสัตว์กำหนดทั้ง 4 ข้อ ส่วนการตัดสินว่าจะมีอายุการรับรองเท่าใดนี้น ให้พิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยจากแบบ ต.ร.2 โดยคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 60-79 คะแนน ให้อายุการรับรอง 90 วัน หากคะแนนเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 80-100 ให้มีอายุการรับรอง 1 ปี
ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการตรวจรับรองสถานกักกันสัตว์และที่พักซากสัตว์ ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2555 |
เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการกักกันตรวจสอบสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยซากสัตว์ ในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ระหว่างประเทศ รวมถึงกรณีการเคลื่อนย้ายเข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพส่งผลดีต่อการควบคุมป้องกันโรคระบาดสัตว์ของประเทศไทย และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 3 (3) และข้อ 15 (3) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการนำเข้า
นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ พ.ศ. 2544 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 43 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ประกอบกับความในข้อ 16 (1) (ง) และข้อ 16 (3) (จ) แห่งระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการอนุญาต การตรวจโรคและการทำลายเชื้อโรคในการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ภายในราชอาณาจักรพ.ศ. 2546 อธิบดีกรมปศุสัตว์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการตรวจรับรองสถานกักกันสัตว์และที่พักซากสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2555”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
“สัตว์” หมายความว่า สัตว์ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ ยกเว้นสัตว์ประเภทกบ กุ้ง จระเข้ ตะพาบน้ำ เต่า ปลา ปู หอย รวมถึงสัตว์น้ำประเภทอื่นที่จะได้มีการกำหนดให้เป็นสัตว์ชนิดอื่น ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
“ซากสัตว์” หมายความว่า ซากสัตว์ตามความหมายในกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์
“สถานกักกันสัตว์” หมายความว่า สถานที่ซึ่งกรมปศุสัตว์ให้การรับรองสำหรับใช้กักกันสัตว์เพื่อให้สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ตรวจสุขภาพสัตว์ โดยวัตถุประสงค์เพื่อการนำเข้าในราชอาณาจักรหรือนำออกนอกราชอาณาจักร หรือเคลื่อนย้ายเข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาด
“ที่พักซากสัตว์” หมายความว่า สถานที่ซึ่งกรมปศุสัตว์ให้การรับรองสำหรับใช้พักซากสัตว์เพื่อให้สัตวแพทย์ของกรมปศุสัตว์ตรวจพยาธิสภาพของโรคระบาด โดยวัตถุประสงค์เพื่อการนำเข้าในราชอาณาจักร หรือนำออกนอกราชอาณาจักร และให้หมายรวมถึงสถานที่ตัดแต่ง บรรจุหีบห่อและเก็บรักษาซากสัตว์ เพื่อการเคลื่อนย้ายเข้าในหรือผ่านเขตปลอดโรคระบาดด้วย
ดาวโหลด ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วยการตรวจรับรองสถานกักกันสัตว์และที่พักซากสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2555
ดาวโหลด ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการตรวจรับรองสถานกักกันสัตว์และที่พักซากสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555
ดาวโหลด ระเบียบกรมปศุสัตว์ว่าด้วยการตรวจรับรองสถานกักกันสัตว์น้ำและที่พักซากสัตว์น้ำเพื่อการนำเข้า นำออก หรือนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2554