ทำลายให้สิ้นซาก! ปศุสัตว์ลำปางขุดหลุมฝังหมูเถื่อนติดเชื้อ 3 ตัน พบปลอมเอกสารขนย้ายขายถูก
ด่านกักกันสัตว์ลำปาง - ปศุสัตว์สกัดจับคาด่านฯ แม่พริก..ส่งดำเนินคดีก่อนขุดหลุมฝังชิ้นส่วนหมูเถื่อนติดเชื้อ 3 ตัน พบปลอมเอกสารขนย้ายส่งตีตลาดขายถูก สมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ แฉซ้ำผู้ค้ารายใหญ่บางรายสมคบคนมีอำนาจลอบนำเข้า ทำเสี่ยงเชื้อ AFS ระบาดซ้ำ ทำลายเกษตรไทยทั้งระบบ
วันนี้ (10 เม.ย. 66) นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานในการทำลายซากสุกรของกลางทิ้งด่านกักกันสัตว์ลำปาง ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยนายศร ธีปฏิมากร ปศุสัตว์จังหวัดลำปาง กล่าวรายงานว่า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลำปาง ด่านกักกันสัตว์ลำปาง ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ร่วมกันจัดพิธีทำลายซากสัตว์ของกลาง ณ ด่านกักกันสัตว์ลำปาง ในวันนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากเชื้อก่อโรคที่มาจากซากสุกรที่ลักลอบเคลื่อนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่จังหวัดลำปาง ตามมาตรการควบคุม ป้องกัน การเกิดโรคระบาดชนิดอหิวาต์แอฟริกาและโรคระบาดในสุกร
กรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้สำนักงานปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทุกอำเภอ ด่านกักกันสัตว์ทุกหน่วยเข้มงวดมาตรการการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิต ซากสุกร เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดจากเชื้อก่อโรคที่มาจากสุกรมีชีวิต ซากสุกรที่ลักลอบเคลื่อนย้าย โดยไม่ได้รับอนุญาตเข้าพื้นที่ จนอาจเกิดผลกระทบทั้งด้านความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
สำหรับเนื้อสุกรที่นำมาทำลายทิ้งในวันนี้ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจสัตว์แม่พริก ลำปาง สารวัตรกรมปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์ลำปาง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่พริก ซึ่งตั้งจุดตรวจบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 490-491 ทางหลวงหมายเลข 1 รอยต่อลำปาง-ตาก
กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม 2566 พบรถยนต์ 4 ล้อบรรทุกชิ้นส่วนสุกรจำนวน 3,000 กิโลกรัม มีผ้าใบคลุมมิดชิด โดยคนขับรถได้แสดงเอกสารใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายว่านำมาจากต้นทางจังหวัดราชบุรี ปลายทางอำเภอเมืองลำปาง
แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบใบอนุญาตดังกล่าวออกโดยระบบ EPP และทำการเช็กในระบบ e-movement แล้วปรากฏว่าเลขที่ใบอนุญาตเป็นเลขที่ที่ออกมาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2565 จึงได้รายงานปศุสัตว์เขต 5 ทำการตรวจสอบไปยังบริษัทต้นทาง ซึ่งได้รับการยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เป็นผู้ออกใบอนุญาตดังกล่าวและไม่ได้เป็นเจ้าของชิ้นส่วนสุกร รวมทั้งรถและคนขับ
เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมกล่าวโทษในข้อหากระทำการเคลื่อนย้ายชากสัตว์ข้ามเขตจังหวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 34 วรรคแรก) และกระทำการเคลื่อนย้ายชากสัตว์เข้าเขตเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 22 ) แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางชิ้นส่วนสุกรจำนวน 3,000 กิโลกรัม ส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่พริก เพื่อดำเนินคดี
การลักลอบนำเข้ามาเป็นการนำซากสุกรที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ASF เข้ามาในประเทศไทย (เชื้อไวรัส ASF มีความคงทนและอยู่ในเนื้อสุกรได้ยาวนาน) อาจก่อให้เกิดการระบาดของเชื้อ ASF อีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่เคยเสียหายจากโรคระบาดนี้จนแทบสิ้นเนื้อประดาตัวกันทั่วประเทศ
ดังนั้นขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยในการปราบปรามชิ้นส่วนสุกรที่มีการลักลอบนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำลายกลไกทางการตลาดของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เศษฐกิจ เช่น สุกร, สัตว์ปีก, โคเนื้อ, กระบือ เป็นต้น และอาชีพปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย จะทำลายอาชีพเกษตรกรไทย ทำความเสียหายเป็นห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ และจะเป็นปัญหาของประเทศไทยต่อไป
ขอบคุณที่มาข่าว MGRONLINE: https://mgronline.com/local/detail/9660000033397