นำเข้าโคมีชีวิต ต้องปลอดโรคระบาดสัตว์

นำเข้าโคมีชีวิต ต้องปลอดโรคระบาดสัตว์

banner Cattle

''ปศุสัตว์''ย้ำนำเข้าโคมีชีวิต ต้องปลอดโรคระบาดสัตว์
กรมปศุสัตว์มอบหมายด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ ต้องตรวจสอบการนำเข้าโคจากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ย้ำประเทศต้นทางต้องไม่พบโรคระบาดสัตว์ เพื่อสกัดการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย

banner 01

นายสัตวแพทย์ชาคริต ภูมิศรีจันทร์  หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ กล่าวว่า การนำเข้าโคเนื้อจากต่างประเทศโดยทางเรือ ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะโรคของประเทศต้นทาง และได้รับการตรวจรับรองแหล่งผลิตจากกรมปศุสัตว์ก่อนการนำเข้า ซึ่งด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ กรมปศุสัตว์ จะดำเนินการตรวจสอบสภาวะโรคของประเทศต้นทางเป็นอันดับแรก เช่น ต้องปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือโรคอื่นๆ ที่กรมปศุสัตว์กำหนด
ซึ่งข้อมูลได้ยึดถือหลักเกณฑ์จากองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health หรือ OIE) เป็นหลัก โดยผู้ประกอบการที่นำเข้าโคเนื้อส่วนใหญ่มาจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

banner 02

ทุกครั้งการนำเข้าโคสัตวแพทย์จากด่านกักกันสัตว์ฯ มีมาตรการเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบหาโรคที่กรมปศุสัตว์กำหนด กรณีประเทศต้นทางพบโรคระบาดสัตว์ตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 กรมปศุสัตว์ จะประกาศชะลอนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย เป็นการสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภค

สำหรับผู้ประกอบการที่มีความประสงค์นำเข้าโคโดยการขนส่งทางน้ำ ต้องได้รับใบแจ้งอนุมัตินำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร หรือกรณีโคเคลื่อนผ่านประเทศไทยไปประเทศที่สาม ต้องได้รับใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักร (แบบ ร.6)

banner 03

และเมื่อโคมาถึงประเทศไทยจะต้องผ่านการตรวจเอกสารและสุขภาพโคจากสัตวแพทย์ของด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ เช่น ดูตา ปาก และกีบ เพื่อหาร่องรอยวิการของโรคปากและเท้าเปื่อย หากร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงจึงออกใบอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (แบบ ร.7) หรือใบอนุญาตนำสัตว์ผ่านราชอาณาจักร (ร.8) แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเคลื่อนย้ายโคจากเรือขึ้นรถบรรทุก โดยก่อนออกจากท่าเรือ เจ้าหน้าที่ ด่านกักกันสัตว์ฯ จะพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรครอบรถทุกคัน ก่อนเข้าสถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์รับรอง

ขั้นตอนการขอเอกสารนำเข้า-สัตว์มีชีวิต ระหว่างประเทศ 

1. ยื่นแบบคำขออนุญาตนำสัตว์ หรือ ซากสัตว์ เข้าราชอาณาจักร (แบบร.1/1) ออนไลน์ ผ่านระบบ e-Movement (https://newemove.dld.go.th/req) สามารถยื่นเรื่องไปที่ด่านกักกันสัตว์ท่าเข้า เช่น ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ
           
2. ด่านกักกันสัตว์ตรวจสอบสภาวะโรคของประเทศต้นทางเพื่อออกหนังสืออนุมัติในหลักการอนุญาตนำสัตว์เข้าราชอาณาจักรฉบับภาษาอังกฤษ (Import Permit) พร้อมสำเนาเงื่อนไข (Requirement)

3. ผู้ประกอบการนำ Import Permit ส่งไปยังประเทศต้นทางทันที เพื่อจะได้ไปปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไข และแจ้งด่านกักกันสัตว์ฯ ล่วงหน้า 3 วัน ก่อนสัตว์เดินทางมาถึง เพื่อออกใบแจ้งอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (แบบ ร.6)
           
4. ต้องมีเอกสารหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) เป็นภาษาอังกฤษ จากประเทศต้นทางและต้องตรงตามเงื่อนไขที่กรมปศุสัตว์กำหนดทุกประการ

5. เมื่อเรือนำเข้ามาถึงท่าเรือ สัตวแพทย์จากด่านกักกันสัตว์ฯ เข้าตรวจสอบเอกสารครบถ้วนถูกต้อง และสัตว์มีสุขภาพสมบูรณ์ จึงออกใบอนุญาตนำสัตว์เข้าในราชอาณาจักร (แบบ ร.7) เพื่อเคลื่อนย้ายโคจากเรือขึ้นรถบรรทุก โดยก่อนออกจากท่าเรือเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ฯ จะพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรครอบรถบรรทุกสัตว์อย่างชุ่มโชกทุกคัน
           
6. สัตว์ที่นำเข้าราชอาณาจักร ด่านกักกันสัตว์จะเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ณ สถานกักกันสัตว์ที่กรมปศุสัตว์รับรอง รอผลการตรวจ และชำระค่าธรรมเนียมนำเข้าราชอาณาจักร เมื่อทดสอบโรคผ่านจึงจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการนำสัตว์ไปใช้ประโยชน์ตามที่ได้แจ้งขออนุญาตต่อไป

banner 04

นายสัตวแพทย์ชาคริต กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยยังคงนำเข้าโคเนื้อ ขณะเดียวกันกรมปศุสัตว์มีนโยบายส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่ยอมรับของหลายประเทศในการผลิตโคเนื้อที่ได้มาตรฐาน คุณภาพดีเพื่อใช้บริโภคในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น สปป.ลาว และเวียดนาม นอกจากนี้ยังวางแผนการส่งออกโดยเปิดตลาดใหม่ที่ประเทศจีนอีกด้วย
 banner 05


ทั้งนี้ การนำเข้าโคเนื้อและการส่งออกไปยังต่างประเทศ กรมปศุสัตว์ ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ    จึงต้องทำงานเข้มงวดโดยโคต้องผ่านการทดสอบเชื้อโรคระบาดสัตว์ การเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 เพื่อให้โคที่นำเข้ามีคุณภาพ ควบคู่กับการส่งออกที่ได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัย ปราศจากโรค และปลอดภัยตอบโจทย์ผู้บริโภค

วีดีโอ การนำเข้าโคเนื้อ


ทั้งนี้ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ
เปิดทำการ จันทร์ – ศุกร์ เวลา 8:30 น. ถึง 16.30 น. โทร 02 249 1221
อีเมลล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ที่มาข่าวเดลินิวส์ : อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์  จันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2563