วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 .
กรมปศุสัตว์ นำโดยนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ จัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดง โดยมีนายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี ณ อาคารมหานครมิวเซียม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ขับเคลื่อนนโยบายห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงตลอดห่วงโซ่การผลิต พร้อมสร้างการรับรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนให้ตระหนักถึงอันตรายและผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง กรมปศุสัตว์จึงดำเนินการมาตรการเชิงรุกเฝ้าระวังการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาหารสัตว์ และฟาร์มเลี้ยงโคขุนทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยปลอดสารเร่งเนื้อแดง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค พร้อมส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า
สารเร่งเนื้อแดงที่มักพบการลักลอบใช้ ได้แก่ ซาลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) และแรคโทพามีน (Ractopamine) ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสร้างโปรตีนในกล้ามเนื้อและลดการสะสมไขมัน จึงถูกนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ โดยเมื่อนำสารชนิดนี้ไปผสมอาหารสำหรับเลี้ยงในฟาร์มสุกรและโคขุน จะทำให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงสด ชั้นไขมันบาง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ก่อให้เกิดการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เมื่อผู้บริโภคทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างเข้าไป จะทำให้กระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และความดันโลหิตสูง โดยจะอันตรายมากขึ้นในหญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ในผู้ที่แพ้ หรือได้รับสารในปริมาณมากอาจเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งกรมปศุสัตว์มอบหมายให้กองควบคุมอาหารและยาสัตว์เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ดำเนินมาตรการป้องกันการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยจัดให้มีการดำเนินการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การตรวจสอบการลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงตั้งแต่การเลี้ยงของเกษตรกรในฟาร์ม การเฝ้าระวังในโรงงานผลิตอาหารสัตว์ และการเฝ้าระวังสารเร่งเนื้อแดงตกค้างก่อนสัตว์เข้าโรงฆ่า อีกทั้ง สามารถตรวจสอบการเฝ้าระวังสารเร่งเนื้อแดงย้อนกลับแหล่งที่มา และ/หรือแหล่งผลิต ณ สถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ ซึ่งสารเร่งเนื้อแดงเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์ ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์ พ.ศ. 2559 ตามความในมาตรา 6(4) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2558 หากตรวจพบการฝ่าฝืน มีโทษตามมาตรา 71 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ กำหนดให้อาหารทุกชนิดมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ อาหารที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างถือว่าผิดมาตรฐาน ตามมาตรา 25(3) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มีมีโทษตามมาตรา 60 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท
สำหรับการจัดกิจกรรม Kick Off เปิดปฏิบัติการอวสานสารเร่งเนื้อแดงในครั้งนี้ เป็นการมุ่งเน้นไม่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์มีการรณรงค์ให้ความรู้แก่เกษตรกรถึงอันตรายของสารเร่งเนื้อแดง และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามมาตรฐานฟาร์มที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรสู่มาตรฐานเพื่อสนับสนุนการส่งออกผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย โดยสังเกตจากลักษณะเนื้อสัตว์ที่ไม่มีสีแดงเข้มผิดธรรมชาติ ไม่แห้งเหนียว หรือมีน้ำซึมออกมามากผิดปกติ
ทั้งนี้ หากต้องการซื้อเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่ปลอดภัย โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ หรือป้ายทองอาหารปลอดภัย (Food Safety) และหากพบผู้กระทำความผิดสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225-6888 หรือแจ้งข้อมูลผ่าน Application DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง