การประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพของการนำเข้าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever)
จากการนำเข้าไส้สุกรหมักเกลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนทางด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ
แก้ไขตามมติคณะกรรมการประเมินฯ ครั้งที่ 2/2563
วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562
พรชัย อินทร์คำดี1 จงเจริญ มากสุวรรณ2
บทคัดย่อ
โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever:ASF) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกร ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรสูง เนื่องจากหากมีการระบาดของโรคนี้ในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมสูงและสามารถปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไส้กรอก แฮม เนื้อสุกรและซาลามี (เนื้อสุกรหมักเกลือตากแห้ง) ได้ วัตถุประสงค์ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพของการนำเข้าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จากการนำเข้าไส้สุกรหมักเกลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าสู่ประเทศไทยทางด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ และเพื่อให้สามารถมีข้อมูลในการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและแนวทางปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมโรค ASF ไม่ให้แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรค ASF มาก่อน การศึกษาครั้งนี้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการประเมินความเสี่ยงโดยการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการโรคในสุกร ทำการประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพ (qualitative risk assessment) โดยใช้แนวทางการประเมินขององค์การสุขภาพสัตว์โลก ผลจากการประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพพบว่า โอกาสในการนำโรค ASF เข้าสู่ประเทศไทยโดยการนำเข้าไส้สุกรหมักเกลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ระบาดของโรค ASF) มีความเสี่ยงในระดับต่ำ ส่วนโอกาสในการนำโรค ASF เข้าสู่ประเทศไทยโดยการนำเข้าไส้สุกรหมักเกลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน (กรณีที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเกิดการระบาดของโรค ASF) อยู่ในระดับสูง และโอกาสนำโรค ASF เข้าสู่ประเทศไทยโดยการลักลอบนำเข้าไส้สุกรหมักเกลือมีความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ การเตรียมความพร้อมก่อนมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการต่างๆ เพื่อการป้องกันการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คำสำคัญ : โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร, การประเมินความเสี่ยงเชิงคุณภาพ , ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ, การนำเข้าใส้สุกรหมักเกลือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทะเบียนวิชาการเลขที่ : 62(2)-0120-097
1 ด่านกักกันสัตว์ท่าเรือกรุงเทพ กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์
2 ด่านกักกันสัตว์หนองคาย กองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์